สาระน่ารู้เกี่ยวกับ “การสร้างบ้าน” ที่ควรรู้!
การสร้างบ้าน มีขั้นตอนต่างๆตามงานก่อสร้างเลย แต่การตรวจงานจะเน้นคนละด้าน ไม่ว่าคุณจะเคยสร้างบ้านหรือไม่เคยสร้างมาก่อนก็ตาม จึงเป็นเรื่องที่จำเป็นมากที่ควรรู้ เพราะบ้านของเราเอง เจอช่างที่ก่อสร้างดี มีความรับผิดชอบเราก็โชคดีไป แต่ถ้าใครเจอช่างที่ไม่เก่ง มักง่าย ขี้โกง หรืองานไม่ละเอียด คงแย่และทำให้เสียหาย เสียเวลาได้ เพราะโอกาสที่เราจะปลูกบ้านนั้นไม่บ่อย อาจจะครั้งเดียวในชีวิต ถ้าสร้างไม่ดีปัญหาการบำรุงรักษาก็จะตามมาได้
สำหรับใครที่เลือกซื้อบ้านตามโครงการจากบริษัทใหญ่ต่างๆ ซึ่งบริษัทเหล่านี้จะมีคนดูแลตรวจสอบอยู่แล้ว เพราะส่วนใหญ่บริษัทจะจ้างผู้รับเหมาย่อยอีกที แต่ถึงอย่างไร เราก็ควรตรวจสอบอีกที ทั้งดูแบบ ดูโครงสร้างต่างๆ เผื่อมีข้อสงสัย ไม่เข้าใจ จะได้ทักท้วง แก้ไข ปรึกษาก่อนที่จะสร้าง เพราะถ้าสร้างไปแล้ว ไปทุบแก้ไข ปัญหาอื่นๆจะเกิดตามมาอีกมากมายไม่จบไม่สิ้นนั่นเอง 👌
การก่อสร้างและตรวจตามขั้นตอนก่อสร้าง มีดังนี้
👉 การวางผัง
การวางผัง คือ การกำหนดวางตัวบ้าน ว่าจะอยู่ที่ตำแหน่งไหนในที่ดินของเรา ส่วนใหญ่จะกำหนดในแบบอยู่แล้วตั้งแต่แรก เมื่อตีผังโดยใช้ไม้แบบรอบบริเวณที่จะก่อสร้างแล้วก็จะกำหนดจุดฐานราก และเสาเข็มเพื่อตอกเข็ม บางพื้นที่ดินแข็งๆ ก็ไม่จำเป็นต้องตอกเข็ม อาจจะทำฐานรากเลย ปัญหาในการวางผัง อาจมีการคลาดเคลื่อน หรือมีอุปสรรค เช่น ต้นไม้ใหญ่ สิ่งก่อสร้างเดิมใต้ดิน เป็นต้น
👉 การตอกเข็ม
การตอกเข็ม ปัจจุบันมี 2 อย่าง คือ เข็มตอก แบบดั้งเดิมและเข็มเจาะ ในกรณีที่พื้นที่จำกัด สถานที่ก่อสร้างอยู่ชิดติดสิ่งก่อสร้างอื่นๆ จะตอกเข็มไม่สะดวก หรือเมื่อตอกลงไปแล้ว จะไปกระทบกระเทือนสิ่งเหล่านั้นและทำให้พังเสียหายได้ การตรวจดู คือ ตรวจดูเสาเข็มก่อนว่าสภาพดีมีมาตรฐานหรือไม่ ไม่บิดงอ แตกร้าว ไม่ใช่ตอกไปแล้วหักคาที่ การตอกมีหลัก คือ ตอกให้ตรง ไม่เอียงซ้ายเอียงขวา ตอกลงไปแล้วแน่นดี ไม่ใช่ตอกแล้วหายลงไปในดินเลย นั่นแสดงว่าดินอ่อนไป ไม่รับน้ำหนัก เพราะหน้าที่ของเสาเข็ม คือ รับน้ำหนักทั้งหมดของตัวบ้าน บ้านจะทรุดไม่ทรุดก็อยู่ตรงนี้ ตอกให้ได้ครบจำนวน หรือถ้าเสาหักก็ต้องตอกเสริมให้ครบตามที่วิศวกรระบุ
👉 การทำฐานราก
ต้องมีการขุดดินออกจากก้นหลุมให้ใหญ่กว่าฐานรากที่จะทำ ถ้ามีน้ำก็ต้องสูบน้ำออกก่อน ระดับความลึก คือ วางอยู่บนหัวเสาเข็มพอดี เททรายและคอนกรีตหยาบ รองพื้นก่อนที่ตั้งแบบไม้ และวางเหล็ก เหล็กเสาตอม่อต้องตั้งตรงได้ดิ่งกับพื้น
👉 งานคอนกรีตทั่วไป
คือ ส่วนที่เป็นโครงสร้างทั้งหมดของอาคาร เช่น เสา คาน พื้น ที่เรียกกันว่า ค.ส.ล. หรือคอนกรีตเสริมเหล็ก เป็นส่วนประกอบหลักที่ให้ความแข็งแรงกับโครงสร้าง คือ คอนกรีตและเหล็กเสริม ซึ่งถ้าใช้คอนกรีตอย่างเดียวก็จะแข็งแต่ไม่เหนียว และถ้าใช้เหล็กอย่างเดียวเหนียวแต่งอได้ จึงต้องใช้มาผสมกัน
ส่วนคอนกรีตนั้น ถ้าสั่งแบบสำเร็จรูปมาเป็นคันรถเทก็จะได้มาตรฐานดีมาก แต่ถ้าผสมเองต้องดูและตรวจสอบ เพราะคอนกรีต ประกอบด้วย ปูนซีเมนต์ ทราย และหิน เป็นสัดส่วนกัน คือ 1:2:4 แล้วก็ต้องผสมน้ำพอประมาณ ไม่เหลวไป ข้นไป และน้ำที่ใช้ต้องเป็นน้ำสะอาดด้วย คอนกรีตถ้าผสมเหนียวไปก็เทไม่ค่อยลงเต็มแบบไม้ ต้องมีอุปกรณ์เขย่าคอนกรีตให้อัดตัวแน่นและเต็ม พอถอดแบบออกมาแล้วสวยเนียน ไม่เว้าแหว่งเป็นรูโพลง
👉 การตั้งไม้แบบ
การเทส่วนโครงสร้างทั้งหมด จะต้องตั้งไม้แบบก่อน เพื่อวางเหล็กเสริม สิ่งนี้ต้องดูให้ดีเพราะช่างมักทำไม่เรียบร้อย ตั้งเสาไม่ตรงไม่ได้ดิ่ง หรือบางทีตั้งคานเอียงไม่ได้ระดับ พอหล่อมาแล้วออกมาไม่ดี และช่างมักไม่ค่อยยอมทุบยอมทำใหม่ เพราะทุบรื้อทีเสียของ เสียเวลา
👉 งานผูกเหล็ก
เหล็กเสริมมีขนาดเส้นใหญ่เล็กต่างกันไป เรียกตามความเล็กใหญ่ ว่า มิล ตามมาตราเมตริกที่ spec ในแบบ แต่ช่างจะชอบเรียกเป็นหุน แบบเก่า คือ หน่วยเป็นนิ้ว 1 นิ้วมี 8 หุน เหล็กเล็กก็มักจะใช้ทำเหล็กปลอก ส่วนเหล็กใหญ่ก็เสริมเป็นเหล็กยืนเสริมเสาคานเสริม เหล็กเสริมก็ว่าได้เหล็กเต็มตาขนาดไม่เป็นสนิม ดัดตรงดี เหล็กปลอก ซึ่งควรมีระยะห่างเท่าๆกัน แต่บางจุดที่จะเน้นความแข็งแรง วิศวกรจะเสริมพิเศษให้ถี่ขึ้นอีก เสร็จแล้วจะใช้ลวดผูกเหล็กผูกเหล็กยืนและเหล็กปลอกเข้าด้วยกันทุกๆจุดที่เหล็กทาบกัน จึงจะเรียบร้อยแข็งแรงพร้อมเทคอนกรีตและไม่แอ่นโค้งไปมา
👉 การบ่มคอนกรีตและถอดแบบ
เมื่อเทคอนกรีตเสร็จแล้ว ต้องรอคอนกรีตแห้งก่อน เพราะคอนกรีตยิ่งแห้งยิ่งมีกำลังรับน้ำหนักได้ดี ส่วนการบ่ม คือ เอากระสอบป่านชุบน้ำคลุมไว้ หรือใช้แผ่นพลาสติกห่อคล้ายๆที่ใช้ wrap ห่ออาหาร จะทำให้คอนกรีตค่อยๆแห้งและได้กำลังรับสูง
👉 งานไม้
งานไม้แบ่งเป็น 2 ประเภท คืองานโครงสร้างภายใน และส่วนประกอบภายนอก โครงสร้างภายใน เช่น โครงเคร่า, ฝ้าเพดาน, โครงฝา ควรทาน้ำยากันปลวก มอดเสียก่อนที่จะกรุ ส่วนประกอบอื่นภายนอก ได้แก่ ไม้เชิงชาย ระแนงฝ้าเพดาน พวกนี้เป็นส่วนโชว์ ไม่หลบซ่อนตัวเหมือนพวกโครงต่าง ๆ จึงต้องมีการใสขัดผิวให้เรียบ ไม่เป็นเสี้ยน ปัจจุบันนิยมใช้ยิบซั่มกันมากกว่าไม้ เพราะราคาถูกกว่า
👉 งานก่ออิฐ
คือ การก่ออิฐผนังและแผงกำแพง ที่นิยมที่สุด เช่น อิฐมอญและคอนกรีตบล็อก การก่ออิฐผนังจะต้องมีเหล็กเสริมหนวดกุ้งเสริมยื่นออกมาจากเสาเตรียมไว้แล้ว เพื่อยึดผนังกับเสาให้แข็งแรง ก่อนก่ออิฐต้องเอาอิฐไปแช่น้ำให้อิ่มน้ำก่อน แล้วจึงนำมาใช้ เพราะอิฐที่แห้งจะดูดน้ำจากปูนก่อจนปูนก่อแห้งไป ไม่ยึดติดอิฐก่อ จะหลุดร่วงได้ก่อนฉาบปูนด้วยซ้ำ
► การก่ออิฐต้องเริ่มจากมุมเสาก่อนและขึงแนวกำแพงทั้งทางตั้ง-ทางนอนไว้เป็นระยะ เวลาก่อจะได้ไม่เลื้อยเป็นงู ถ้าผนังยาวหรือ สูงมากจะต้องมีเอ็น ค.ส.ล. เสริมยึดให้แข็งแรงด้วย
► งานก่ออิฐในปัจจุบันไม่ใช่กำแพงอิฐล้วนๆอย่างเดียว แต่ยังฝังงานระบบหลายอย่างลงไปด้วย เช่น ระบบน้ำ ระบบไฟ ต้องให้ช่างประสานงานและเว้นงานให้สัมพันธ์กัน ไม่อย่างนั้น เวลาจะมาวางระบบต้องรื้อต้องเจาะกันอยู่เรื่อย กำแพงที่ก่อไว้แล้วก็อาจเสียหาย หรือไม่แข็งแรง
► การเสริมเอ็น ค.ส.ล.ตามแนวผนัง หรือล้อมรอบวงกบประตูหน้าต่าง
👉 งานฉาบปูน
ก่อนการฉาบปูนต้องทำการจับเซี้ยม ตามระดับขอบเสา มุม ผนังเสียก่อนเพื่อความเรียบร้อย และได้ดิ่ง ได้ฉาก ก่อนฉาบก็ต้องรดน้ำผนังก่ออิฐให้ชุ่มเสียก่อนเช่นเดียวกัน จะช่วยไม่ให้ผนังแตกร้าวเพราะอิฐดูดน้ำไปจากปูนฉาบ ส่วนผนังภายนอกที่โดนแดดมากๆ ต้องให้น้ำก่อน 3 วัน จะได้ไม่แตกลายงาภายหลัง เพราะปูนมันแห้งเร็วกว่าปกติ
► การฉาบปูนผนังห้องน้ำ ต้องทำผิวให้หยาบเพื่อปูกระเบื้องเคลือบ
► การฉาบปูนภายนอก ควรตั้งนั่งร้านให้แข็งแรง การทำงานจะง่าย เร็ว และปลอดภัย และได้งานที่ดี ถ้านั่งร้านไม่แข็งแรง เกิดอุบัติเหตุ ก็จะมีผลกระทบกับงาน
👉 การติดตั้งวงกบ ประตู หน้าต่าง
การติดตั้งวงกบประตูหน้าต่าง ถ้าไม่ยึดติดกับเสา จะต้องทำเอ็น ค.ส.ล.ทุกด้าน เพื่อความแข็งแรง และต้องให้ได้ดิ่งเสมอ เวลาใช้งานนาน ๆ จะได้ไม่แตกร้าว สำหรับที่มุมประตู ถ้าวงกบใช้ไม้ดีๆสวยๆ ควรทาน้ำมันเคลือบผิวไว้ก่อน จะได้ไม่เปื้อนน้ำปูน เวลามาลงชเลคภายหลังก็จะสวย ไม่มีรอยปูนเปื้อนให้หงุดหงิด
การติดตั้งบานประตูหน้าต่าง ต้องไสแต่งขอบบานให้เรียบร้อยให้หลวม ๆ นิดหน่อย เผื่อความหนาสำหรับวัสดุทาผิวด้วย เพื่อตอนใส่บานจะทำให้เปิด – ปิดได้ง่าย การใช้บานพับติดตั้งต้องดูด้วยว่า ติดตั้งกับบานอะไร ต้องใช้ขนาดให้เหมาะสมกับน้ำหนักของบานนั้นๆด้วย
👉 งานหลังคา
งานหลังคา แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนโครงหลังคา และส่วนวัสดุมุงหลังคา
► งานโครงหลังคา | เมื่อก่อนมักจะใช้โครงไม้ ปัจจุบันหันมาใช้โครงเหล็กกันหมดแล้ว ส่วนโครงสร้างหลัก บางทีก็เป็น ค.ส.ล. บางทีก็เป็นเหล็กหมด ตั้งแต่คานอะเสขึ้นไป เพราะสร้างง่าย และราคาถูก สำหรับโครงหลังคา ถ้ายังใช้โครงไม้ อย่าลืมทาน้ำยากันปลวก ส่วนโครงสร้างควรดูระยะความห่าง แป จันทัน ให้สม่ำเสมอ สิ่งสำคัญที่ระนาบของหลังคา คือต้องตรงเรียบเสมอกันหมด ห้ามแอ่น ห้ามแบะ เพราะจะทำให้เวลามุงกระเบื้องไม่สนิท น้ำจะเข้าได้ |
► งานมุงกระเบื้อง | ขึ้นอยู่กับชนิดกระเบื้อง ว่าเป็นแบบไหน แผ่นใหญ่หรือเล็ก หนาหรือบาง ถ้าหลังคาชัน ๆ ควรเลือกใช้กระเบื้องแผ่นเล็ก ๆ การมุงต้องดูทิศทางลมด้วย ต้องมุงย้อนทางลม เพื่อให้การซ้อนทับของกระเบื้องไม่รับทางลม เพราะลมที่แรงจะดันน้ำให้ย้อนเข้าทางร่องแผ่นกระเบื้องที่มุงไม่แนบสนิทกันได้ แนวกระเบื้องทางตั้ง ต้องให้ได้แนวตรงไม่โค้งบิด หรือเลื้อย เพราะทำให้กระเบื้องไม่แนบสนิทกัน ส่วนจะใช้ฉนวนกันความร้อนด้วยหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับงบประมาณ จะใช้หรือไม่ก็ได้ เพราะตัวฉนวนนั้นมีประสิทธิภาพกันความร้อนได้ส่วนหนึ่งเท่านั้น |
👉 งานฝ้าเพดาน
ยังมีการใช้โครงไม้กันอยู่มาก เพราะแข็งแรงทนทานกว่าโครงเหล็กชุบสังกะสีกับยิบซั่ม และออกแบบได้หลากหลายกว่ากัน งานไม้จะเรียบร้อยกว่า ถ้าใช้ยิบซั่มต้องกำชับดูแลให้ดีกว่าการยึดลวดแขวนโครงเหล็กแข็งแรงแน่นหนา ยึดกับโครงสร้างใหญ่ๆ ที่รับน้ำหนักได้ดี เพราะตอนแขวนโครงมันจะเสมอกันดี แต่พอวางแผ่นยิบซั่มลงไปแล้ว มันแอ่นไปแอ่นมาเป็นลอนๆเป็นคลื่น โดยเฉพาะแบบ T-Bar ถ้าเป็นแบบฉาบเรียบจะเรียบร้อย แข็งแรงกว่า แต่ก็ดูให้เขายิงตะปูเกลียวให้ถี่ เพราะในระยะยาวถ้าแผ่นยิบซั่มเริ่มเสื่อมสภาพการยึดเกาะจะน้อยลง อาจจะหลุดหล่นลงมาทั้งแผ่นได้ ตะปูเกลียวถี่ๆ จะรับน้ำหนักได้ดีกว่า รอยต่อก็ควรทำให้เรียบร้อย ถ้ามีบัวเพดานปิดได้ก็ยิ่งดี
👉 งานติดตั้งประปา สุขภัณฑ์
ท่อประปา ท่อน้ำทิ้ง ไม่ว่าจะเป็นเหล็กชุบสังกะสี หรือท่อ PVC เน้นที่การติดตั้งข้อต่อต่าง ๆ ให้แข็งแรง ทาน้ำยากันรั่วซึมให้ทั่ว ท่อแต่ละแนว แต่ละเลี้ยว ต้องมีอุปกรณ์ยึดเกาะให้แน่นหนาแข็งแรง เมื่อติดตั้งระบบท่อทั้งหมดแล้ว ก่อนติดตั้งงานอื่นๆต่อ ต้องทดลองแรงดันน้ำด้วยว่าไม่มีส่วนใดรั่วซึม ถึงจะทำการฉาบปูน ปิดทับ ฝังท่อได้ ตำแหน่งของสุขภัณฑ์ต่างๆ ควรตรวจสอบให้ดีก่อนว่าท่อที่วางไว้ มีระยะตรงกับรุ่นที่ซื้อมาหรือไม่ แล้วจึงปูกระเบื้องให้เสร็จก่อนติดตั้งสุขภัณฑ์ แล้วให้ทดลองระบบน้ำอีกครั้งว่ามีรั่วซึมหรือไม่ เป็นอันเสร็จเรียบร้อย
👉 การติดตั้งไฟฟ้า
อันตรายจากไฟฟ้ายังคงมีมายมาย การก่อสร้างที่ทำไม่ดี เป็นสาเหตุให้ไฟไหม้ได้ ดังนั้น การติดตั้งและใช้วัสดุต้องเลือกใช้ของที่มีมาตรฐาน อย่าเลือกซื้อของที่ราคาถูกอย่างเดียว การติดตั้งเดินสายถ้าร้อยท่อได้ควรจะทำ ราคาอาจจะสูงแต่ปลอดภัยต่อชีวิต และทรัพย์สิน โดยเฉพาะส่วนที่ลึกลับ ซอกซอย ที่พวกหนูแมลงจะเข้าถึง สายไฟที่ต่อเชื่อมพันกันต้องพันเทปให้เรียบร้อยแน่นหนา ตรวจสอบและทดสอบการใช้งานให้เรียบร้อยทุกจุด โดยเฉพาะเรื่องสายดินที่ต้องมีติดตั้งกับอุปกรณ์สำคัญที่มักจะมีสายดินสีเขียว ๆ โผล่มาด้วยนั้น เช่น เครื่องทำน้ำอุ่น ต้องติดตั้งให้ครบด้วย
👉 งานระบบน้ำเสีย ระบบระบายน้ำ
บ่อเกรอะ บ่อซึม จะใช้บ่อซีเมนต์สำเร็จรูปหรือก่ออิฐ ถ้ามีพื้นที่หรือระดับน้ำใต้ดินไม่สูง จะใช้ได้ดี ประหยัด แต่ถ้าเป็นพื้นที่ ที่น้ำใต้ดินสูงหรือที่แคบ ควรใช้แบบถังบำบัดสมัยใหม่ สำหรับท่อระบาย ให้วางบ่อพักไม่เกินระยะ 4 เมตรต่อ 1 บ่อและทำระดับเอียงลาดมากหน่อย เพื่อป้องกันไม่ให้อุดตัน และสามารถเปิดตัก ทำความสะอาดสิ่งอุดตันได้ การวางท่อน้ำทิ้งและบ่อพัก ควรให้ช่างบดอัดดินที่รองรับแนวท่อให้แน่น จะได้ไม่ทรุดง่าย พังเร็ว
👉 งานปูวัสดุผิวพื้นและผนัง
วัสดุตกแต่งพื้นผิวมีหลายชนิด ติดตั้งกับส่วนพื้น และผนังบ้านได้หลายชนิดเช่นกัน
ส่วนพื้น ก่อนปูกระเบื้องหรือไม้ปาร์เก้ ต้องปรับระดับพื้นผิวให้เรียบสม่ำเสมอ ไม่เป็นแอ่ง เป็นลอน แล้วทำความสะอาดพื้นผิว ไม่ให้มีฝุ่นผง เศษวัสดุ การปูกระเบื้องก็ต้องตั้งปุ่มระดับก่อนและตั้งแนวกระเบื้องทั้ง 2 ทาง ทางตรงและขวาง เลือกปูจากด้านที่เห็นชัดเจนก่อน เมื่อไปจบอีกด้านหนึ่งกระเบื้องอาจจะเหลือเศษ ต้องตัดออก ซึ่งจะไม่เรียบร้อย ก็หลบไว้ด้านที่ไม่สำคัญ อย่าลืมแช่กระเบื้องให้อมน้ำก่อน เหมือนก่ออิฐนั่นแหละ แนวกระเบื้องถ้ากระเบื้องดีก็สามารถปูได้เกือบชิด แต่ถ้าอยากเว้นร่องก็ไม่ควรให้ห่างจนเกินไป ทำความสะอาดยาก เมื่อยาแนวเรียบร้อยแล้วปล่อยให้แห้งสนิทก่อน อย่าให้ใครไปเดินเหยียบ จะทรุดหรือหลุดได้
การปูไม้ปาร์เก้ เมื่อปูเสร็จแล้วต้องอุด โป้ว รูร่องต่าง ๆ ที่มีอยู่ให้เรียบร้อย แล้วทิ้งไว้ให้กาวแห้งสนิทอย่างน้อย 1 อาทิตย์หรือมากกว่านั้น การขัดให้เรียบต้องสม่ำเสมอทั่วกัน เพราะถ้าขัดไม่ดี ไม่สม่ำเสมอ ลึกเป็นรอย เป็นแอ่งแล้วแก้ยาก เอาผิวไม้ปะกลับไปไม่ได้ ก็ต้องขัดลึกลงไปเรื่อย ๆ ยิ่งลึกก็ยิ่งไม่เสมอนั่นเอง
การปูพรมหรือกระเบื้องยาง ต้องปรับระดับให้เรียบก่อน และทำความสะอาดพื้นผิว ก่อนปู
👉 งานสี
ก่อนทา ตรวจสอบดูสีที่จะใช้ก่อน ว่าถูก spec หรือไม่ ที่สำคัญใช้สีตามคุณสมบัติ คือ สีที่ระบุสำหรับทาภายใน ภายนอก อย่าใช้สลับกัน สีทาภายใน ห้ามมาทาภายนอกเด็ดขาด การเลือกสีทาบ้าน ควรเลือกใช้สีตามเบอร์ ตามการใช้งานให้เหมาะสม อย่าให้ช่างผสมสีเอง ก่อนทาสีต้องอุดโป้ว ทำความสะอาดผนัง ให้เรียบร้อย และผนังต้องแห้งสนิทห้ามเปียกชื้น เมื่อทาแต่ละชั้นต้องรอให้ชั้นที่ทาแล้วแห้งก่อน จึงทาทับ อย่างน้อย 2 รอบ
👉 การเก็บกวาดทำความสะอาดสถานที่
เสร็จสิ้นงาน เมื่อผู้รับเหมาเก็บเครื่องมือเครื่องใช้ เก็บเศษวัสดุเหลือใช้ต่างๆ และขยะไปทิ้งหมดแล้ว ควรให้ช่างทำความสะอาดอาคารทุกส่วนให้เรียบร้อยด้วย หากมีวัสดุเหลือใช้บางอย่างสามารถเก็บไว้สำรองซ่อมแซมภายหลังได้ เช่น กระเบื้อง สี เพราะถ้ามีปัญหาต้องซ่อมจะได้หยิบมาใช้ได้
❝ สุดท้ายนี้ การจ่ายเงิน ไม่ได้เกี่ยวกับการก่อสร้าง แต่เกี่ยวกับการบริหารผู้รับเหมา การจ่ายเงินควรแบ่งจ่ายเป็นงวดๆจ่ายให้ตามเนื้องานที่ทำแล้วเสร็จ และควรประมาณราคาแต่ละงวดไว้ล่วงหน้าด้วยและเจรจาจ่ายไปตามผลงาน ช่างอาจมีเบิกล่วงหน้าบ้างแล้วแต่ตกลง แต่ต้องเหลือเงินไว้งวดสุดท้ายก่อนงานจบเสมอ 👍 ❞
ที่มา : Kacha
Comments
Post a Comment